ย้อนหลังไปประมาณ 1,300 ปีก่อน ศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ซึ่งเป็นลัทธิที่นับถือพระศิวะ เป็นเทพสูงสุด เป็นศาสนาที่มีอิทธิพลมาก ในดินแดนแถบนี้ ชาวขอม เมื่อสร้างปราสาทวัดพูเสร็จ ก็ได้สร้างศิวลึงค์ ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของพระศิวะ ไว้ที่กลางปรางค์ประธาน เพื่อให้เป็นที่สักการะของผู้คน โดยอยู่ในบริเวณภูเขา ที่มีลักษณะคล้ายศิวลึงค์ ซึ่งชาวลาวเรียกภูเขาลูกนี้ว่า "ภูเกล้า" เนื่องจากมีลักษณะคล้าย เกล้ามวยของผู้หญิง ต่อมาเมื่อขอม หมดอำนาจลง และพุทธศาสนา ได้แผ่ขยายเข้ามาในประเทศลาว เทวสถานแห่งนี้ จึงได้กลายเป็นวัด ของพุทธศาสนานิกายเถรวาท มาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากกลุ่มปราสาทหินแล้ว ในโบราณสถานวัดพู ยังมีสิ่งที่น่าสนใจ ซ่อนอยู่หลายอย่าง เช่น ร่องส่งน้ำ ที่เชื่อมต่อจากผาหิน สู่ตัวปราสาท ไหลผ่านศิวลึงค์ แล้วจึงไหลไปสู่ผู้คน ที่รอรับน้ำไปใช้ เพือความเป็นสิริมงคล ก่อนที่จะไหล ลงไปรวมกับแม่น้ำโขง ตามลำห้วยสายเล็ก ซึ่งมีชื่อว่า "ห้วยสระหัว" เพราะผู้คนใช้น้ำ ที่ไหลผ่านมาสระผมตัวเอง เพื่อความเป็นมงคล
ความงามอีกอย่างหนึ่ง ที่ผู้มาเยือนจะได้พบเห็น ณ สถานที่แห่งนี้ คือ "ดอกดวงจำปา" ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่ต้นเดียวโดดๆ แต่จะขึ้นเป็นคู่ ไล่เรียงกันไป ลักษณะเป็นซุ้ม อยู่บริเวณทางขึ้น สู่ปรางค์ประธาน ซึ่งแต่ละต้นมีอายุกว่าร้อยปี นอกจากความงาม ทางสายตาแล้ว เมื่อเดินผ่าน เรายังได้กลิ่นที่หอมเย็น ชื่นใจของดอกไม้ชนิดนี้ด้วย
ทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ซึ่งเป็นวันมาฆบูชา ชาวพุทธลาว จะจัดงานนมัสการวัดพู ซึ่งถือเป็นงานบุญ ที่ใหญ่ที่สุด ของสี่แขวงลาว ตอนใต้ คือ จำปาสัก สาละวัน อัตตะปือ และเซกอง
|
|
งานบุญนมัสการวัดพู จะมีพิธีสำคัญ 2 วัน คือ ช่วงเย็น ของค่ำคืนวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 3 เป็นวันจุดธูปเทียน ไหว้บูชาวัดพู และพระพุทธรูป และเช้าวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 เป็นวันตักบาตรพระสงฆ์ ในช่วงระยะหลัง ทางแขวงจำปาสัก ได้เข้ามาร่วมเป็น ผู้ดำเนินการจัดงาน โดยให้ถือเป็นงานประเพณี ของทางแขวงด้วย
ล่าสุดรัฐบาลฝรั่งเศส ได้อนุมัติเงินกว่า 1 ล้านยูโร เพื่อนำไปใช้ในโครงการ บูรณะซ่อมแซม โบราณสถาน ในแหล่งมรดกโลกวัดพู โครงการนี้มีกำหนด 3 ปี โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1.ดำเนินการศึกษา เพื่อหาแนวทางที่ดี และเหมาะสมที่สุด ต่อการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว
ระยะที่ 2.เร่งปรับปรุงระบบพื้นฐาน โดยรอบสถานที่มรดกโลก เพื่อการจัดการนักท่องเที่ยวที่ดีกว่า
ระยะที่ 3.จัดฝึกอบรมพนักงานของรัฐ ให้สามารถปกปักรักษา คุ้มครองแหล่งโบราณสถาน และสามารถถ่ายทอดความรู้ ไปสู่แหล่งมรดกโลกแห่งอื่น ๆ ได้
ปริมาณนักท่องเที่ยว ที่เดินทางเข้ามาค้นหาเสน่ห์ ของเมืองลาว เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี ดังนั้น นอกจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องจะต้องวางกฏเกณฑ์ ให้ดีแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ สำนึกของนักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ในการที่จะช่วยกันดูแลรักษา มรดกของมนุษยชาติ เหล่านี้ให้คงอยู่อย่าง ยั่งยืนตลอดไป
|