Home บทความ Health & Beauty โฟเลต : วิตามินใบไม้
โฟเลต : วิตามินใบไม้
"วิตามินใบไม้" ชื่อนี้มีที่มาพร้อมคุณค่าอีกมากมาย

"โฟเลต" หรือ "กรดโฟลิก" เป็นสารอาหารที่ละลายในน้ำ จัดอยู่ในกลุ่มวิตามินบี ชื่อนี้มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า "โฟเลี่ยม" ซึ่งหมายถึง "ใบไม้" เพราะสารอาหารชนิดนี้ สามารถพบได้ทั่วไปในพืชผักชนิดต่าง ๆ

หลังจากที่ปล่อยให้วิตามินชื่อคุ้นหู เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินดี เป็นพระเอกครองใจผู้บริโภค มาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ในขณะนี้โฟเลตกำลังเข้ามาท้าชิง ตำแหน่งขวัญใจประชาชนคืนบ้าง เห็นได้จากปัจจุบันผู้คน ทั้งในส่วนของประชาชนทั่วไปและนักวิจัย ได้หันมาให้ความสนใจสารชนิดนี้กันเพิ่มมากขึ้น งานโฆษณาสินค้าอาหารหลายชนิด เลือกที่จะหยิบยกโฟเลตมาเป็นตัวชูโรง

โฟเลตกับความพิการทางสมองของทารก
งานวิจัยที่เห็นประโยชน์ของโฟเลตอย่างชัดเจน คือ งานวิจัยเรื่องโฟเลต กับความพิการของทารกแรกคลอด ทารกที่เกิดจากแม่ที่ขาดสารโฟเลตในขณะตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นผู้พิการทางสมอง และประสาทสูงมาก ซึ่งเราเรียกลักษณะ อาการดังกล่าวว่า "Neural Tube Defects"


การขาดโฟเลตในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาจทำให้แกนกลางประสาทของทารกในครรภ์เกิดความพิการได้ เพราะโฟเลตมีความจำเป็นต่อการสร้างเซลล์ ที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การขาดโฟเลตในช่วงสามเดือนสุดท้าย อาจส่งผลให้การเจริญของสมองและประสาทไขสันหลังผิดปกติ และจากการศึกษาค้นคว้าจากประเทศแถบยุโรป รวมทั้งแคนาดาและอิสราเอลพบว่าอาการดังกล่าวนี้ จะลดน้อยลงถึงร้อยละ 70 ถ้าแม่ได้รับโฟเลตอย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน

โฟเลตกับโรคหัวใจ
โรคหัวใจในที่นี้หมายรวมถึง อาการความผิดปกติต่าง ๆ ของหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งการตีบตันของหลอดเลือด จะนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดหัวใจวาย รวมทั้งเป็นสาเหตุของโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน ปัจจุบันโรคหัวใจเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอุตสาหกรรมอย่างสหรัฐอเมริกา และมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งนักวิจัยได้ให้ความเห็นถึงสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจไว้ว่า นอกจากการเพิ่มขึ้นของ LDL ในร่างกาย ความดันโลหิตสูง

ปริมาณ HDL ในร่างกายต่ำ เบาหวาน และโรคอ้วนแล้ว เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานักวิจัยค้นพบว่าปัจจัยเสี่ยง ต่อการเกิดโรคหัวใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเพิ่มขึ้นของ Homocysteine ในร่างกาย ซึ่งเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่พบในกระแสเลือด และระดับการเพิ่มขึ้นจะมีผลต่อการเป็นโรคหัวใจ และเส้นเลือดในสมองอุดตัน เพราะกรดชนิดนี้ จะทำให้เกล็ดเลือดก่อตัวเป็นลิ่มได้ง่ายขึ้น จึงสามารถรวมกันเป็นก้อน เกิดการอุดตันของหลอดเลือด และนำไปสู่อาการหัวใจวายได้ในที่สุด การที่ร่างกายมีโฟลิก วิตามินบี 6 และบี 12 อย่างเพียงพอจะช่วยลดระดับของ Homocysteine ในร่างกายได้

โฟเลตกับโรคมะเร็ง
หลักฐานการวิจัยบางอย่างระบุว่าผู้ ที่มีระดับโฟเลตในร่างกายต่ำ มีอัตราความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคมะเร็งสูง เนื่องจากโฟเลตมีส่วนสำคัญในการสร้าง ซ่อมแซม และการทำงานของ DNA การขาดโฟเลตอาจเป็นการทำลาย DNA และนำไปสู่การเป็นมะเร็งได้ในที่สุด จากการศึกษาหลายครั้งปรากฏว่า การรับประทานแต่อาหารที่มีโฟเลตต่ำ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งตับ และมะเร็งลำไส้ อย่างไรก็ตามยังไม่ได้มีการระบุแน่ชัดว่าการขาดโฟเลต เป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็ง และการศึกษาค้นคว้า ถึงผลกระทบของการรับประทานอาหารที่มีโฟเลต กับการรับประทานกรดโฟลิกในรูปวิตามินสำเร็จรูปเพื่อลดความเสี่ยง ในการเป็นมะเร็งก็ยังคงดำเนินต่อไป ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้รับประทาน กรดโฟลิกสำเร็จรูปเพื่อป้องกันมะเร็ง จนกว่าผลการศึกษาจะออกมาอย่างแน่ชัด

แหล่งโฟเลตที่สำคัญ คือ ผักใบเขียวทุกชนิดและผลไม้ เช่น คะน้า ตำลึง ดอกกุยช่าย ผักชี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ส้ม กล้วยน้ำว้า มะขามเทศ ถั่วเมล็ดแห้ง แป้งถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน มะเขือเทศ นอกจากนี้ยังพบโฟเลตในตับสัตว์อีกด้วย เนื่องจากโฟเลตละลายได้ดีในน้ำมัน จึงอาจสูญหายไป ในระหว่างการปรุงและล้างอาหาร จึงควรเลือกวิธีประกอบอาหารที่ใช้น้ำน้อย ๆ เช่น ต้มหรือลวกผักในน้ำน้อย ๆ และกินน้ำต้มผักด้วย ผักนึ่งจะมีโฟเลตเหลือมากกว่าผักต้ม แต่เมล็ดถั่วต้มจะยังคงปริมาณโฟเลตไว้ได้มาก


ร่างกายต้องการโฟเลตมากน้อยเพียงใดจึงจะป้องกันโรคได้ หน่วยงานสาธารณสุขที่เรียกว่า The US Public Health Service แนะนำว่าทั้งชายและหญิงควรกินสารอาหารชนิดนี้ให้ได้วันละ 400 ไมโครกรัม ซึ่งขนาดเพียงแค่นี้มีเพียงพออยู่แล้วในอาหารประจำวัน หากกินหลากหลายครบหมู่ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปหลายยี่ห้อ ยังเสริมโฟเลต ลองสังเกตฉลาก ดังนั้นคนทั่วไปจึงไม่จำเป็นต้องเสริมโฟเลต ยกเว้นคนบางคนที่กินอาหารไม่ครบหมู่ อาจต้องเสริมโฟเลตและวิตามิน เกลือแร่ พร้อมกับปรับสุขนิสัยในการรับประทานอาหาร

แต่สำหรับหญิงมีครรภ์ การเสริมโฟเลต เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันทารกพิการ แพทย์จะพิจารณาจ่ายในรูปวิตามินรวม หรือวิตามินบีรวมเมื่อไปฝากครรภ์ คนชรา ผู้ป่วยเรื้อรังที่กินอาหารได้น้อย ก็อาจจำเป็นต้องเสริมโฟเลตเช่นเดียวกัน

 

สำหรับผู้ที่รับประทานกรดโฟลิกที่อยู่ในรูปวิตามินเสริม ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 1,000 ไมโครกรัม เนื่องจากการรับประทานกรดโฟลิกในปริมาณที่สูง จะส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะขาดแคลนวิตามินบี 12 ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญ เพราะถึงแม้ว่ากรดโฟลิก จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องโรคโลหิตจาง ได้โดยไม่ต้องมีวิตามินบี 12 มาช่วยแต่กรดโฟลิกไม่สามารถรักษาอาการ ด้านระบบประสาทได้หากขาดวิตามินบี 12 และอาการนี้จะเป็นอย่างถาวร หากไม่ได้รับการแก้ไข เรื่องการขาดวิตามินบีชนิดดังกล่าวอย่างทันท่วงที

สำหรับผู้สูงอายุ การรับประทานโฟลิก เสริมเป็นสิ่งที่ต้องพึงระวังเป็นอย่างมากเนื่องจาก มีความเสี่ยงสูงต่อการขาดวิตามินบี 12 หากได้รับกรดโฟลิกในปริมาณที่มากเกินไป ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องรับประทานกรดโฟลิกเสริม ผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จึงควรขอให้แพทย์ ตรวจวัดระดับวิตามินบีในร่างกายให้ด้วย นอกจากนี้ในกรณีที่ต้องรับประทานวิตามิน เสริมที่มีส่วนผสมของกรดโฟลิก ควรอ่านฉลากกำกับยาให้ชัดเจนว่ามีวิตามินบี 12 รวมอยู่ด้วยหรือไม่ หากไม่มีควรขอวิตามินชนิดนี้ มารับประมานร่วมด้วย แต่ทั้งนี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์